สาธุ...สั้น ๆ แต่ได้บุญ
" สาธุ อนุโมทนา วันทามิ" และ " ขออนุโมทนาสาธุด้วยนะ" เป็นประโยคที่ชาวพุทธคุ้นเคยมากที่สุด เช่น เมื่อพระเทศน์จบ การถวายทาน รวมทั้งพระให้ศีล ให้พร
คำว่า "สาธุ" ซึ่งมีความหมายว่า ดี งาม ชอบ หรือ ถูกต้อง
คำว่า "สาธุ" มีความหมายเป็น 2 นัย คือ พระสงฆ์เปล่งวาจาว่า "สาธุ" หมายความว่า "เพื่อยืนยัน หรือรองรับการทำสังฆกรรมนั้น ๆ ว่าถูกต้องเหมาะสม หรือ เพื่อลงมติว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอ ซึ่งเป็นกิริยาที่พระสงฆ์ใช้แทนการยกเมือแบบคฤหัสถ์ ในเวลาลงมติ"
ในขณะที่คำกล่าว "สาธุ" หากเปล่งออกมาจากฆราวาส จะเป็นคำอนุโมทนาแสดงความชื่นชมยินดีในบุญกุศล หรือความดีที่คนอื่นทำ โดยประนมมือยกขึ้นเสมอศีรษะ พร้อมเปล่งวาจา สาธุ นอกจากนี้ยังใช้ในความหมายของคำว่า ไหว้ อีกด้วย เช่นบอกเด็ก ๆ แสดงความเคารพพระหรือผู้ใหญ่ ทั้งนี้จะลดเหลือคำว่า "ธุ" ก็มี
การกล่าวคำว่า "สาธุ" ถือว่าผู้กล่าวได้บุญ เพราะเป็นการทำบุญข้อหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ คือ "ปัตตานุโมทนามัย" แปลว่า บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า "สาธุ" เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำ ก็ขอให้ได้มีโอกาสแสดงการรับรู้
0 ความคิดเห็น: